สวัสดีค่ะ… ใครๆ ที่เดินผ่านบริเวณลานหน้าหออนุสรณ์ 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ใกล้ๆ กับพระพิรุณทรงนาค จะเห็นประติมากรรมรูป “หยดน้ำ” เคยนึกสงสัยบ้างไหมคะ…..เขาเรียกว่าอะไร? สร้างทำไม เพื่ออะไร?
ตอบ… เขาเรียกว่า “แคปซูลเวลา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Kasetsart University Time Capsules” ซึ่งความหมายของ “แคปซูลเวลา” (Time Capsules) หมายถึง กล่องบรรจุสิ่งที่มีคุณค่า เพื่อแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นมาของวิถีชีวิตในขณะนั้น
แคปซูลเวลา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ทำด้วยสเตนเลส สตีล มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 ฟุต สูง 4 ฟุต จำนวน 2 กล่อง บรรจุลงใต้พื้นดิน โดยมีประติมากรรมรูป “หยดน้ำ” อยู่ด้านบนพื้นดินเพื่อบอกตำแหน่ง ในแคปซูลเวลาจะบรรจุข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันรวมถึงแผนงานในอนาคต ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ด้วยข้อมูลดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการบรรจุแคปซูลเวลา เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 7 และเป็นปีที่ 63 ใน พ.ศ. 2549 ทำพิธีบรรจุเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 และขึ้นนทะเบียนไว้กับ International Time Capsule Society (ITCS) ที่ Oglethorpe University เมือง Atlanta ประเทศสหรัฐอเมริกา
กำหนดเปิดแคปซูลเวลาครั้งที่ 1 เมื่อมหาวิทยาลัยครบรอบการสถาปนา 99 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2585 (เปิดแคปซูลเวลาเพื่อทำการตรวจและศึกษาเนื้อหาและข้อมูลเดิมที่บรรจุในแคปซูลเวลา – ทำการบรรจุเนื้อหาและข้อมูลปัจจุบัน ณ ช่วงเวลาที่เปิดในแคปซูลเวลา -ทำการผนึกแคปซูลเวลาเพื่อเก็บรักษาต่อไป) เปิดครั้งที่ 2 เมื่อมหาวิทยาลัย ครบรอบการสถาปนา 199 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2685
ด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการสถาปนาครบ 63 ปี ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งประวัติความเป็นมา จุดเริ่มต้นการก่อตั้ง ประสบการณ์ และพัฒนาการ ของมหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลากว่าหกทศวรรษที่ผ่านมาเป็นอดีต ปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำสู่อนาคตได้ เป็นอย่างดี ดังนั้น ข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนแผนงานและแนวคิดในอนาคตจึงเป็นข้อมูลที่มีคุณค่า ควรแก่การจัดเก็บรักษา เพื่อการศึกษาค้นคว้าและการเผยแพร่แก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลด้านการเกษตรที่มีประวัติและพัฒนาการ มายาวนาน อีกทั้งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ในแต่ละยุคสมัยในอนาคตใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารและการวางแผนเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้าอย่างมีทิศทางที่ชัดเจนต่อไป ด้วยความตระหนักในความสำคัญของข้อมูลเรื่องราวดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงเห็นสมควรเก็บรักษาข้อมูลที่มีคุณค่าเหล่านั้น เพื่อประโยชน์ในภายภาคหน้าด้วยการจัดตั้ง “หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อให้การเก็บรักษาข้อมูลเป็นไปอย่างถาวรและปลอดภัยที่สุดแม้แต่จะเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง เช่น สงคราม เป็นต้น หลายประเทศจึงได้จัดให้มีการเก็บข้อมูลไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า แคปซูลเวลา (Time Capsule) โดยบรรจุลงไปในพื้นดินและทำตำแหน่งไว้เหนือพื้นดิน พร้อมระบุว่ามีกำหนดจะให้เปิดเมื่อใด เพื่อให้การคำนวณส่วนประกอบของแคปซูลเวลา และวิธีการที่ใช้ในการบรรจุมีผลให้ข้อมูลที่ใส่ลงไปคงทนถาวร จนเมื่อถึงเวลาเปิดแล้ว ข้อมูลที่บรรจุไว้ภายในคงอยู่ในสภาพเหมือนเดิม แม้มหาวิทยาลัย จะจัดตั้งหอจดหมายเหตุแล้ว แต่หอจดหมายเหตุมีข้อจำกัดที่เน้นการเก็บรักษาเอกสารที่สิ้นกระแสการใช้งานแล้ว ต่างกับการเก็บข้อมูลลงในแคปซูลเวลา ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และแนวคิดในอนาคต มหาวิทยาลัยจึงเห็นควรจัดให้มีแหล่งเก็บข้อมูลควบคู่กันไปกับหอจดหมายเหตุ และดำเนินการจัดเก็บในแบบสากลที่หลายประเทศทั่วโลกในปัจจุบันดำเนินการอยู่ในแคปซูลเวลา (ข้อมูลจากหนังสือที่ระลึกในพิธีบรรจุ แคปซูลเวลา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2549)
เป็นไงบ้างค่ะ ได้รับความรู้เกี่ยวกับแคปซูลเวลามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กันแล้วนะค่ะ คราวหน้าจะหาข้อมูลดีๆๆ รอบรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาฝากใหม่นะค่ะ…สวัสดีคะ…