สวัสดีค่ะ… วันนี้ดิฉันใคร่ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวน นิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า อาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย และผู้สนใจ ชมนิทรรศการ ณ อาคารหอพักนิสิต (หอ2) ตั้งอยู่ตามแนวถนนระพีสาคริก ฝั่งตรงข้ามสนามรักบี้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเปิดให้ชมทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 10.00 – 15.00 น. มาย้อนรอยอดีตและรำลึกถึงวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในหอพักของนิสิต มก. ในอดีตด้วยกันนะคะ
ก่อนอื่นดิฉันขอเล่าประวัติความเป็นมาของหอพักนิสิต วิทยาเขตบางเขน ก่อนนะค่ะ…ในอดีตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีลักษณะเป็นทุ่งนาห่างไกลจากเมือง สภาพแวดล้อม โดยรอบยังเป็นทุ่งนาซึ่งเรียกในสมัยนั้นว่า “ทุ่งบางเขน” นิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกคนต้องอยู่หอพักเพราะมหาวิทยาลัยฯ อยู่ไกล การเข้าถึงนั้นลำบาก และนิสิตจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับพืชและสัตว์เป็นอันมาก การพักอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยฯ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ดังนั้นมหาวิทยาลัยฯ จึงจัดสร้างหอพักเป็นสวัสดิการให้แก่นิสิต เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นิสิต (พระพิรุณรับน้อง ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕ หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ในสมัยนั้นถือว่าเป็นการศึกษาที่ให้เปล่า คือ นักศึกษาไม่ต้องชำระค่าเล่าเรียนและค่าหอพัก แต่ต้องจ่ายค่าอาหารเดือนละ ๑๕ บาท (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ๒๕๓๗ : ๑๙) มหาวิทยาลัยฯ ได้สร้างหอพักเรียงตามแนวถนน หอ ๑ จรดสายเมนประตู ๑ ถึงโรงสูบ ลักษณะเป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น มีมุขยื่นออกมา ชั้นบนเป็นห้องนอน ชั้นล่างเป็นที่เก็บตู้เสื้อผ้า โต๊ะทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกอีกตามสมควร สำหรับห้องสุขาใช้รวมกัน ด้านหลังเป็นโรงอาหารและโรงครัว นิสิตทุกคนต้องมารับประทานอาหารทุกมื้อ ต่อมามหาวิทยาลัยฯ มีโครงการเพิ่มคณะวิชาและรับนิสิตเข้าศึกษาเพิ่มขึ้น จึงได้สร้างหอพักเพิ่มขึ้น ๙ หลัง ๑๕ หลัง และ ๒๓ หลังตามลำดับ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๖ – ๒๔๙๒ มหาวิทยาลัยฯ มีนิสิตเป็นชายล้วน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงมีนิสิตหญิงเข้ามาศึกษาเป็นรุ่นแรก หอพักหญิงในช่วงแรกๆ มีหอพัก ๑๐ ก และหอพัก ๑๐ ข โดยที่หอพัก ๑๐ ก เป็นหอพักหญิง ๒ ชั้น ซึ่งมีมาก่อนหอพักหญิง ๑๐ ข ซึ่งดัดแปลงมาจากบ้านพักอาจารย์มีชั้นเดียว หอพักหญิงอยู่ตรงข้ามกับเรือนแถวข้าราชการชั้นจัตวา ซึ่งแต่ละหอพักมีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เตียงชั้นเดียว โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ เป็นต้น ส่วนห้องน้ำเป็นลักษณะห้องน้ำรวมอยู่ทางแต่ละปีกของอาคาร ซึ่งมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาคอยดูแลนิสิต หอพักหญิงในสมัยก่อนไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่หอพักหญิงในปัจจุบันนี้แต่อยู่ใกล้ๆ กันคือ บริเวณที่ตั้งของสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยหอพัก ซึ่งสมัยก่อนเป็นหน่วยงานเล็กๆ มีที่ทำการอยู่ที่ตึกสัตวบาล (อาคารหอประวัติมหาวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน)
ซึ่งบริเวณโดยรอบของหอพักหญิงติดกับฟาร์มเลี้ยงไก่และบ่อปลา ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยฯ มีจำนวนนิสิตเพิ่มมากขึ้น จึงได้สร้างหอพักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้ ตึกพักหญิงบุษกร ต่อมาสร้างหอพักหญิงราชาวดี ขจีนุช พุทธรักษา มหาหงส์ ตึกพักหญิงชงโค ตึกพักหญิงชวนชม ตึกพักชายที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔ และสุดท้ายตึกพักชายที่ ๑๕ ซึ่งพื้นที่ๆ สร้างเป็นหอพักหญิง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกหรือเป็นแปลงทดลองทางการเกษตร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ มหาวิทยาลัยฯ ได้ตั้งองค์การนิสิตขึ้นมาเป็นครั้งแรก เก็บค่าหอพัก ๖๐ บาท พ.ศ. ๒๔๙๙ นิสิตต้องชำระค่าธรรมเนียมหอพักปีละ ๓๐๐ บาท ค่าธรรมเนียมหอพักได้เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. ๒๕๒๑ ค่าธรรมเนียมหอพักได้เพิ่มขึ้นเป็นภาคการศึกษาละ ๕๐๐ บาท พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการนำน้ำประปามาใช้ในหอพักแทนการใช้น้ำบาดาล ในปัจจุบัน เสียค่าธรรมเนียมภาคการศึกษาละ ๒,๐๐๐ บาท ซึ่งเปลี่ยนแปลงจาก ๗๕๐ บาทในปีการศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๘ (จากหนังสือคู่มือนิสิตหอพัก กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖)
ในหลายๆ ปีต่อมาหอพักนิสิตชายเรือนไม้ได้มีการรื้อถอนไปบ้างแล้วตามสภาพกาลเวลา และเพื่อประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ แต่ยังคงเหลือหอพักนิสิตชายเรือนไม้เพียง 3 หอ คือ หอพักนิสิตหอ2 หอ3 และหอ4 ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงหอพักนิสิตหอ 2 ให้เป็นอาคารอนุรักษ์สำหรับจัดนิทรรศการแสดงประวัติและวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันภายในหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอดีต และได้ทำการเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2549
นิทรรศการภายในอาคาร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือจัดเหมือนจริง 1 ส่วน จัดเต็มรูปแบบที่เหมือนจริง มีห้องหัวหน้าหอพัก และรองหัวหน้าหอพักด้วย
อีก 1 ส่วน จัดนิทรรศการประวัติความเป็นมา
ยังมีภาพและข้อมูลอีกมากมายเกี่่ยวกับหอพักนิสิตชาย ขอเชิญชมนิทร รศการได้ตามวัน และเวลา ดังกล่าว…ชมฟรี… ขอบคุณค่ะ
ใส่ความเห็น