เมื่อมีการรับพนักงานใหม่ หรือมีการปรับตำแหน่งพนักงา่น เช่น จากลูกจ้างชั่วคราวไปเป็นพนักงานเงินรายได้ ผู้เข้าใหม่ทุกคนจะต้องเข้ารับการปฐมนิเทศพนักงานซึ่งดำเนินการโดยกองการเจ้าหน้าที่ โดยในปีนี้ มีเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ 1 คนต้องเข้ารับการปฐมนิเทศ จึงอยากเล่าประสบการณ์การทำกิจกรรมและเรื่องทั่วๆไปแบบไม่ซีเรียสนะคะ

สำหรับปีนี้ การปฐมนิเทศต่างจังหวัดเจัดที่พัทยา (2-3ปีที่ผ่านมาจัดที่กาญจนบุรี) โรงแรมการ์เด้น ซีวิว รีสอร์ท พัทยา โดยไปดูงานที่สถานีวิจัยประมงศรีราชาและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตศรีราชาค่ะ(ถ้าไปกาญจนบุรีจะดูงานที่วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม)

4 วันในการปฐมนิเทศ 1 วันแรกอยู่ที่บางเขน โดยจะมีการบรรยายเปิดงานโดยท่านอธิการบดี ตามมาด้วยเรื่องที่พนักงานควรรู้ ได้แก่ การบริหารงานบุคคล สิทธิประโยชน์สวัสดิการ คุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน

วันที่2 ครึ่งเช้า จะเป็นเรื่องที่advanceขึ้นมาหน่อย (ฮ่าๆ)ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียง การประกันคุณภาพภายในมหาวิทยาลัย(ซึ่งทุกคนจะต้องเจอแน่นอน) จากนั้นช่วงบ่ายเดินทางไปที่พัทยาเพื่อเริ่มกิจกรรมนอกสถานที่สร้างความคุ้นเคยกันค่ะ

หลังจากเดินทางใช้เวลาประมาณ 2ชั่วโมงกว่าๆเนื่องจากรถติดพอสมควร ถึงที่พักประมาณ 3โมงกว่าๆ ทุกคนขนข้าวของไปเก็บไว้ที่ห้องพักของตนแล้วก็พักผ่อนตามอัธยาศัยรอเวลาอาหารเย็นที่จะเริ่มเวลา 6โมงเย็น

ซึ่งอาหารที่โรงแรมนี้ครบมากทั้งไทย จีน อีสาน ฝรั่งทานได้ คนไทยทานดี แถมอร่อยชาดอร่อยอีกต่างหาก!! ส่วนใหญ่แขกที่มาพักที่โรงแรมนี้จะเป็นชาวรัสเซียนะคะ (เดินตัวใหญ่ๆ อาบแดดจนตัวแดงๆ สมแล้วที่เรียกว่าหมีขาว)

จนเมื่ออิ่มหนำสำราญ เจ้าหน้าที่ประกาศให้ไปรวมพลกันที่ห้อง grand hallเพิ่มเริ่มกิจกรรมที่1คือกิจกรรมสร้างความคุ้นเคยกัน วิทยากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งเกษียณและยังไม่เกษียณ ออกมาแนะนำตัว เล่าประวัติความเป็นมาของตนและยิงมุขใส่กันอย่างไม่ยั้ง จนได้ฤกษ์เริ่มกิจกรรมสร้างความคุ้นเคยกันโดยที่ วิทยากรจะแจกกระดาษให้คนละแผ่น เป็นคำถามที่จะต้องใช้การสื่อสารในการหาคำตอบ ต้องพูดคุยกับทุกคนถึงจะหาคำตอบได้

ตัวอย่างคำถาม ได้แก่ -ใครมีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้

-ใครสวยที่สุด ใครหล่อที่สุด

-ใครผมน้อยที่สุด

-ใครแก่ที่สุด

แล้วก็จับเวลา ทุกคนก็จะวิ่งกันอลหม่านหาคำตอบให้ได้ ส่วนใหญ่จะลอกกันซะมากกว่าอ่ะค่ะ วันแรกกว่าจะเสร็จกิจกรรมก็ประมาณ 4 ทุ่ม ก่อนแยกย้ายกันไปเข้านอน พนักงานได้ร่วมกันสวดมนต์ก่อนนอนด้วย

วันที่ 2 ช่วงเช้าเป็นกิจกรรมที่สอนการทำงานเป็นทีม โดยให้มีการแบ่งกลุ่มแบบสุ่มๆ คนที่มาด้วยกันจะถูกจับแยกกัน และเพื่อเป็นการส้รา่งความคุ้นเคยกับกลุ่มใหม่ วิทยากรมอบหมายงานแก้ปัญหาโจทย์เชาวน์ให้่เรื่องหนึ่ง จับเวลาให้ทุกกลุ่มระดมความคิดหาคำตอบแล้วออกมานำเสนอด้านหน้า

ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรม walk rally ทุกทีมต้องคิดชื่อทีม สโลแกนและท่าเต้นประจำกลุ่มให้สร้างสรรเพื่อดึงคะแนนจากกรรมการ(ยกตัวอย่างเช่น รุ่นที่ไปรุ่น 33 มีทีมชื่อGoat Amazing, ชิมิๆ , หมาหมู่33 84,เบิร์ดจิ๊บๆ (พร้อมท่าเต้นเน้นฮา) ส่วนฐานมีทั้งหมด 8 ฐาน แต่ละฐานก็แฝงนัยยะการสั่งสอนเอาไว้แต่งต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ฐานตักน้ำใส่ขวด(จำชื่อฐานไม่ได้นะคะ มันประหลาดมากๆ) ให้ทุกคนวิ่งไปตักน้ำใส่ท่อPVCที่เจาะรูเอาไว้ทั่ว เพื่อให้เต็มแล้วถึงจะได้คะแนน ก็สอนถึงความเสียสละเพราะกฏอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆที่ติดตัวมาเป็นอุปกรณ์ตักน้ำได้ จึงเห็นบางกลุ่มถอดรองเท้า ถอดเสื้อเอามาซับน้ำ ถอดหมวก วิ่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายเลย

หรือฐานกรรเชียงบก ต้องใช้ความสามัคคีพร้อมเพรียงและการวางแผน ในการที่จะทำให้แผ่นกระดานเลื่อนไปได้ โดยที่มีเราอยู่บนนั้นโดยไม่หล่นลงมา

พอเสร็จจากทุกฐาน วิทยากรมอบหมายงานสำคัญชิ้นใหญ่คือ ให้ทุกกลุ่มทำการนำเสนอความคิด “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอีก10ปีข้างหน้า” จะเป็นอย่างไร ประมาณได้ว่าถ้าท่านเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะปรับปรุงหรืออยากเห็นมหาวิทยาลัยเดินไปในทางไหน พร้อมให้อุปกรณ์มาคือ กระดาษสีหลายๆสี กระดาษแข็งแผ่นใหญ่ กาว สีเทียน สีเมจิค กรรไกร มาเพื่อตกแต่ง อีกทั้ง ต้องทำการแสดง!!! ทุกคนต้องเข้าร่วมคือต้องแสดงอะไรก็ได้อย่างนึง ซึ่งทีมทุกทีมเลือกที่จะร้องเพลงและเต้นประกอบ ทุกอย่างต้องเสร็จภายใน6.30 น หลังอาหารมื้อเย็นนั่นเอง ซึ่งเวลาที่เหลือมีให้น้อยนิดหลังจากที่เสร็จจากwalk rally

เวลาบีบบังคับทำให้ทุกทีมต้องแบ่งงานกันทำ ทีมเต้นกับทีมพรีเซนต์ถูกแบ่งหน้าที่กัน บางกลุ่มไวหน่อยยังพอมีเวลาไปอาบน้ำบ้างแต่บางกลุ่มเน้นความสามัคคีเน่าพร้อมกันทั้งกลุ่ม จนการพรีเซนต์และการแสดงจบลงได้ด้วยดี พร้อมกับการประกาศรางวัล Ku boy / Ku girl สืบเนื่องมาจากวันแรกที่มีคำถามว่าใครสวย/หล่อที่สุด วิทยากรจะเอาคะแนนมารวมและประกาศเป็นขวัญใจรุ่ นพร้อมทั้งค้นหาประธานรุ่น (ขอบอกว่า พนักงานเรานี่สวยๆทั้งนั้นเลือกไม่ถูกเลย ฮุๆๆ) กว่ากิจกรรมจะจบก็ล่วงเลยเวลาไปถึง 4ทุ่มกว่าๆ ทุกคนจึงแยกย้ายกันไปพักผ่อน

เช้าวันที่ 4 เ้ป็นการดูงานที่สถานีวิจัยประมงศรีราชา และวิทยาเขตศรีราชา ทานข้าวเช้าเสร็จแล้วทุกคนขนข้าวของเก็บขึ้นรถใครรถมัน มุ่งตรงไปสถานีวิจัยประมง เสียดายที่รุ่นนี้ ฝนตก! ไม่สามารถลงทะเลได้ จึงได้แต่นั่งสนทนากันอยู่ด้านบนจนถึงเวลาเรียกขึ้นรถ(แต่ก็แอบเห็นบางคนลงไปชายหาดไปแงะหอยนางรมมากิน)

จากนั้นเดินทางต่อไปที่วิทยาเขตศรีราชา ไปที่สำนักหอสมุดฟังการบรรยายต้อนรับ ใช้เวลาไม่นาน(แต่เท่าที่เห็น หลับกันซะส่วนใหญ่ – -*) แล้วก็ลงมาทานข้าวที่ทางวิทยาเขตจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งขอบอกว่า น้ำพริกไข่ปูอร่อยมากกกกกกกกกกกกก อร่อยอย่างที่คุยไว้จริงๆ จากนั้นก็เดินทางกลับกันซึ่งบางคนแยกตัวออกมากลับเอง แล้วก็ได้แวะตลาดหนองมน 20 นาที ซื้อของติดไม้ติดมือกลับมาฝากเพื่อนที่ทำงานบ้างอะไรบ้าง กลับถึงบางเขนตอนประมาณ 4โมงเย็น เป็นการปฐมนิเทศที่เหนื่อยแต่ก็คุ้มค่ามากค่ะ

Posted by: kuarchives | มีนาคม 30, 2011

The Star of KU part 3

สวัสดีค่ะ กลับมาตามสัญญาในเดือนมีนาคม 2554 ช่วงนี้ใกล้จะหน้าร้อนแล้ว แต่อากาศหนาวซะยิ่งกว่าหน้าหนาวอีก อากาศเย็นสบายอย่างนี้ไม่ต้องเปิดแอร์ – พัดลม ก็ถือว่าได้โอกาสประหยัดค่าไฟลดโลกร้อนละกันนะคะ
มาพบกันคราวนี้ สำหรับคนที่ไม่เคยติดตาม part 1 – 2 มาก่อนอาจจะงงว่าอะไรคือ The Star of KU ก็ขอทบทวนสั้นๆ ว่า ก็คือผู้มีชื่อเสียงในวงการโทรทัศน์ หรือวงการบันเทิงที่เคยศึกษาอยู่ใน มก. นั่นเอง ใน part 1-2 ได้ไล่เรียงมาตั้งแต่คณะเกษตรจนถึงคณะมนุษยศาสตร์แล้ว ใน part 3 นี้จะมีใครกันบ้าง มาดูกันเลยดีกว่าค่ะ

คณะวนศาสตร์

 

วัชระ สงวนสมบัติ

วัชระ สงวนสมบัติ แฟนพันธุ์แท้ดูนก 2 สมัย นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กลายเป็นรู้จักของคนทั่วไป เมื่อเป็นแชมป์ 2 สมัย “สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ดูนก” ประจำปี 2547 และ 2550 จากรายการแฟนพันธุ์แท้ ตำแหน่งที่ได้รับจากการแข่งขันเกมโชว์ ก็ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ในการเป็นวิทยากรเพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสให้เขาได้ให้ความรู้คนอื่นได้ ซึ่งเขาเผยว่าได้เดินสายบรรยายพิเศษ เรื่องการดูนกมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้ว วัชระเผยว่า เขาสนใจและเริ่มดูนกด้วยตัวเอง โดยมีคู่มือดูนกของ นพ.บุญส่ง เลขะกุล หรือหมอบุญส่ง ที่ทำให้เขาหลงเสน่ห์นก เพราะคู่มือดังกล่าวทำให้ศึกษาด้วยตัวเองได้ โดยการดูนกที่มีคนคอยบอกให้ดู ไม่ช่วยให้จดจำอะไรได้ เพราะไม่ได้สังเกตรายละเอียดด้วยตนเองเท่าไหร่ และหากมีหนังสือลักษณะนี้มากๆ จะมีนักธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกเยอะ

“การดูนก ทำให้รู้จักอดทน และเป็นคนช่างสังเกต ทำให้ใจเย็น เพราะต้องไม่ทำให้นกตกใจ ไม่อย่างนั้นจะพลาดโอกาสในการสังเกตพฤติกรรมนกตามธรรมชาติ ผมเคยตกใจเสียงท้องตัวเองร้อง เพราะต้องเงียบจนไม่มีเสียงอะไร และบริเวณนั้นก็เป็นด่านสัตว์ที่มีช้างและเสือผ่าน ทำให้ตกใจเสียงท้องร้องของตัวเอง”

วัชระปิดท้ายประโยชน์ของการดูนกและเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณ บทความจากผู้จัดการออนไลน์
ภาพจาก http://portal.in.th/scitalk/pages/bird52/

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์

วิน ธาวิน เยาวพลกุล (ศิษย์เก่า) KU 64 นักแสดงสังกัดช่อง 7 สี ก่อนรับงานละครมีผลงานโฆษณาแบรนด์ และพิธีกรรายการ u-school มีผลงานละครเรื่องแรก คือ พลิกดินสู่ดาว และได้รับบทพระเอกครั้งแรกในเรื่อง “เหลี่ยมเพชรกระรัต” คู่กับแพนเค้ก ต่อด้วย “ปมรัก รอยอดีต” คู่กับขวัญ อุษามณี และยังมีผลงานการแสดงตามมาอีกหลายเรื่อง ทั้งบทนำและบทรอง เช่น “รุกฆาต” “เรือนซ่อนรัก” และเรื่องที่ออกอากาศล่าสุดคือ “เทพบุตรมายา เทพธิดาจำแลง”

ธาวิน เยาวพลกุล

ด้านการเรียน วินสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.41 วินได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องการเรียนว่า

“ที่เลือกเรียนทางนี้เป็นเพราะว่าเรียนสายวิทย์มาก็เลย เลือกเอนทรานซ์ไปทางสายวิทย์ แต่ตอนเอนฯจริงๆ ก็เลือกตามความถนัดนะ แบบว่า ไม่ชอบชีวะ ต้องเป็นหมอไม่ได้แน่เลยอะไรงี๊อ่ะ แล้วมาดูเราชอบฟิสิกข์กับเลข เลยคิดว่าเรียนวิศวะจะดีกว่า ก็เลยเลือกเรียนวิศวะแล้วกันเผื่อจะรุ่งอะไรอย่างนี้ครับ คิดว่าถ้าเรียนวิศวะสามารถ ทำงาน ได้หลากหลายไปเรียนต่อทางบริหารก็ได้ แล้วมันเป็นที่นิยมด้วยคนเข้าเยอะอะไรอย่างนี้ครับ แล้วเราก็เลือกวิศวะฯ 4 อันดับเลย ตอนเอนฯ เข้ามาวินก็เอนฯ เข้าวิศวะฯ ทั่วไป เพื่อจะเข้ามาดูก่อนว่าเราชอบสาขาไหน แต่พอเข้ามาเราก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าเราชอบสาขาไหน ตอนปี1 มันจะเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันหมด ก็เหมือนได้รู้ทั่วๆ วินก็เลยเลือกเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ที่ชอบที่สุด แล้ววิศวะคอมฯ เกษตรฯ มีคะแนนที่จะคัดคนเข้าเรียนเป็นอันดับ 1 เราก็เลยรู้สึกว่าอยากเรียนกับคนเก่งๆ เพราะจะทำให้เราได้พัฒนาตัวเองด้วย ทำให้เรามีแรงกระตุ้นให้พัฒนาตัวเองด้วย อยากสัมผัสคนที่เก่งกว่าเรา ว่าเค้าทำยังไงถึงได้เก่ง แต่พอ เรียนจริงๆ รู้สึกคิด ผิด (หัวเราะ) ก็ไม่เชิงคิดผิด แต่เรียนหนักมาก การจะเรียนได้ดีกับ ไม่ดีนี่ อยู่แค่พลิกมือเท่านั้น เคยมีสอบติดกัน 5 วัน ได้นอนวันละ 2 ชั่วโมง พอเช้าพี่เลี้ยงมาปลุก “ วินตื่นได้แล้ว ไปสอบ” วินก็ “ รู้แล้ว บอกว่า ตอบ ค.ควายไง ไม่ถูกเหรอ” คือฝันว่าสอบอยู่ เลยละเมอ (หัวเราะ)”

วิน เป็นตัวแทนให้สัมภาษณ์ในหอประชุม

ทั้งเรียน ทั้งทำงานอย่างนี้ ทำไมวินถึงยังเรียนดี มาฟังเคล็ดลับของวินกันค่ะ “ เราต้องแบ่งเวลาให้เป็น เวลาทำงานก็ทำงานอย่าพะวงกับการเรียน เวลาเรียนก็ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด อย่าเพิ่งพะวงกับการทำงาน เวลาพักผ่อน ก็พักให้เต็มที่ไม่ใช่อ่านหนังสือไปหลับไป เราต้องแบ่งเวลาให้ดี ทำงาน เสร็จกลับบ้านมาอ่านหนังสือทำการบ้านอะไรก็ว่าไป ถ้าจะมีถ่ายละคร ก็อ่านบทเตรียมไว้ก่อน วินจะให้เปอร์เซ็นต์กับ การเรียนมากกว่าการทำงาน แต่ทำงานเราก็เต็มที่”
นอกจากเรื่องเรียนหนักๆ แล้ว หนุ่มวิศวะฯ มีประเพณีอย่างหนึ่ง วินเล่าว่า “ ที่หน้าคณะเขาจะเรียกกันว่า “ สามแยกวิศวะ” สาวๆ ที่เดินผ่านต้องถูก แซว แต่วินไม่ค่อยได้ไปแซวนะ วินจะอยู่ที่ภาควิชามากกว่า แล้วทุกปีจะ มีกิจกรรมวันเปิดสามแยก หลังจากแซวเขามาเยอะ เด็กวิศวะจะซื้อดอก ไม้มาแล้วก็ไปแจกคณะอื่น วินก็ไปซื้อกุหลาบมาช่อหนึ่ง เดินแจกผู้หญิง คณะอื่น เป็นประเพณีของคณะครับ”
กับคำถามว่าวินภูมิใจตัวเองเรื่องอะไรมากที่สุด วินยังตอบว่า “ คงเป็นเรื่องเรียน อย่างทำงานแล้วเรียนไปด้วยคนที่เหนื่อยคือตัวเรา พอเราสอบได้ดี เกรดออกมาดีคนที่ภูมิใจที่สุดก็คือตัวเราอีก รู้สึกว่าเราทำได้แล้วนะ ก็ภูมิใจ”

โอ้โห อ่านบทสัมภาษณ์แล้วรู้สึกว่าวินรักการเรียนมากๆ และมีความคิดดีจริงๆ ค่ะ ขยันทั้งการเรียนและการทำงาน รับผิดชอบในหน้าที่แบบนี้ น้องๆ น่าเอาเป็นตัวอย่างนะคะ

ขอขอบคุณ บทสัมภาษณ์จากนิตยสาร Seventeen และบทสัมภาษณ์ในเว็บ truelife
รูปภาพจาก Bird eye view photo และ ประชาสัมพันธ์ มก.

เต้ย ธโนธัย

(เต้ย) ธโนทัย เอื้ออมรรัตน์ ศิษย์เก่า ดีเจ นายแบบ เต้ยจบปริญญาตรี คณะวิศวะกรรมศาสตร์ สาขาพัฒนาซอฟแวร์(Inter) เต้ยเคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่เลือกเรียนทางด้านนี้ว่า ”ตอนป.5 – ป.6 ผมก็ได้ยินคำว่าวิศวะคอมฯ เพราะช่วงนั้นคอมฯเริ่มมีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ผมก็เลยคิดว่าถ้าเราเป็นโปรแกรมเมอร์ เขียนโปรแกรมเป็นมันจะสุดยอดมากเลย เพราะประเทศไทยมีแต่คนใช้ไม่มีคนเขียน” แต่โดยส่วนตัวแล้วเต้ยบอกว่าถนัดงานด้าน multimedia มากกว่าการเขียนโปรแกรม เมื่อจบแล้วก็สามารถนำความรู้มาใช้ด้าน animation design คือ multimedia พวก 3D

เต้ย สมาชิกวง vwilz

ด้านการทำงาน เต้ยเริ่มเข้าวงการตั้งแต่ ม.5 โดยได้ออกรายการ U school หลังจากนั้น พจน์ อานนท์ จึงได้ติดต่อให้มาถ่ายแบบในนิตยสารเธอกับฉัน และมีงานโฆษณาสินค้าหลายตัวเช่น exit, น้ำอัดลม fanta, ลูกอมฮาร์ทบีท และมาม่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เรื่องรับน้องสยองขวัญ ผลงานปัจจุบันเป็น DJ. Hot 91.5 พิธีกร Five Live และสมาชิกวงบอยแบนด์ VWiilz ค่าย เคฟ สตูดิโอ ซึ่งเต้ย บอกว่าการเต้นเป็นสิ่งที่ชอบมานานแล้ว “กับเพื่อน ๆ วงวีวิลซ์ เรารู้จักและสนิทกันมานานแล้ว เพราะด้วยการที่ชอบเต้นและร้องเพลงเหมือนกัน เลยทำให้สนิทกันเร็วมาก จากนั้นผมก็ได้เข้ามาเป็นกลุ่มวีวิลซ์ วันนี้มาทำเพลงแบบเต็มตัวก็จะทำให้ดีที่สุดครับ ยังไงขอฝากให้ทุกคนได้ติดตามกันด้วยนะครับ”

ขอขอบคุณ บทสัมภาษณ์จากเว็บ mthai และ สถาบันกวดวิชา Da’vance
ภาพจาก เว็บไซต์วง vwilz และ hot915.FM

มิวสิค รัชพล

รัชพล แย้มแสง (มิวสิค AF 4) (นิสิต KU 66) นักร้อง นักแสดง จากรายการ True Academy Fantasia Season 4 (AF 4) หลังจบการแข่งขันด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 3 มิวสิคก็มีผลงานเพลงและการแสดงร่วมกับสมาชิก AF คนอื่นๆ อีกหลายงาน เช่น อัลบั้ม X-treme Army อัลบั้ม Monkey Rock ละครเวทีน้ำใสใจจริง ละครเวที “กว่าจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ละครร้องเรื่อง”วิวาหพระสมุท” เป็นต้น
ด้านการเรียน มิวสิคกำลังศึกษาอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาซอฟต์แวร์และ ความรู้ มิวสิคช่วยงานของมหาวิทยาลัยอยู่เสมอๆ เช่นเป็นวิทยากรแนะนำน้องๆ ด้านการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยในงาน open house หรือแสดงในรายการ 67 ปี วันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม้งานจะยุ่งและเรียนหนัก แต่มิวสิคก็ยังมาช่วยงานมหาวิทยาลัย ถือเป็นน้องนิสิตที่น่ารักอีกคนหนึ่งเลยค่ะ
สำหรับ การเตรียมตัวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ควรจะเตรียมเมื่อไหร่ อย่างไรดี มิวสิค เล่าว่า ส่วนตัวคิดว่าในระดับ ม.ต้น ควรที่จะเป็นการค้นหาตัวเอง หาความถนัด หาคณะ หรือหาอาชีพที่เราต้องการให้เจอ เรียน ม.ต้น ถ้าสนใจงานด้านสถาปัตยกรรม กับการติววิทย์ ติวคณิตก็คงไม่ถูกทาง ส่วนการเรียน ม.ปลาย เป็นการแบ่งแยกสายวิชา สายอาชีพที่จะเรียน เป็นช่วงที่สำคัญมากอีกช่วงหนึ่ง ว่าจะเลือกเรียนสายไหน วิทย์-คณิต ศิลป์ภาษา ศิลป์คำนวณ จะทำให้รู้ว่าอนาคตจะเรียนวิชาอะไรบ้าง จบแล้วจะไปทำงานอะไร เป็นการวางแผนล่วงหน้า
“การ เลือกเรียนสาขาวิชาที่ตัวเองรัก ที่ตัวเองชื่นชอบ ที่ตัวเองถนัดจะเรียนได้ดี เรียนได้เร็ว ทำให้นำหน้าคนอื่นๆ หรือประสบความสำเร็จในการเรียน”
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งแตกต่างจากชั้นประถม มัธยม อาจารย์ แต่ละท่านมีวิธีการสอนที่แตกต่างกันออกไป ส่วนมากจะปล่อยเป็นอิสระเช็คชื่อบ้างไม่เช็คบ้าง อาจารย์ท่านคิดว่าเป็นสิทธิ์ของนิสิต นักศึกษา ที่จะเลือกเข้าเรียนหรือไม่ แต่นิสิต นักศึกษาเองก็จะต้องควบคุมตัวเองได้ ต้องมีความรับผิดชอบ ระดับ ความยากง่ายในแต่ละวิชาที่เรียนจะยากขึ้นตามระดับชั้น ถ้าเรามีความรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นปัญหาก็จะไม่มี เช่น ถ้าขาดเรียน ต้องตามเพื่อนให้ได้ ต้องส่งงานอาจารย์ให้ครบ ต้องสอบให้ผ่าน “ถ้าเราจะรักอิสระ จงอย่าทำให้ส่วนอื่นขาดหายไป”

รัชพล แย้มแสง

นอกจากการเรียนแล้ว ยังต้องทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร หรือกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย
“ผมทำกิจกรรมมาตั้งแต่เรียนมัธยมต้น เล่น ฟุตบอล เป็นประธานสี เข้ามหาวิทยาลัยแรกๆ ก็ไม่มีอะไรมากนัก แต่พอเข้าสู่วงการบันเทิง ก็ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับคณะ มีอะไรที่ช่วยได้ถ้าว่างก็ยินดีเสมอ
มิวสิคทิ้งท้ายว่า วิศวกรรมศาสตร์ เป็นคณะวิชาที่ผู้เรียนสามารถนำไปต่อยอดสาขาวิชาต่างๆ ได้อีกมากมาย วิศวะฯ มาจากหลักการและเหตุผล ทำให้ผู้เรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำงาน ทำงานอย่างมีระบบ ทำให้เกิดการคิดอย่างซับซ้อน คิดลึกซึ้งกว่าใครๆ สามารถ Create สิ่งใหม่ๆ ได้อีกเยอะมาก แต่ต้องใช้ความอดทนค่อนข้างสูง ถ้าชนะความอดทนไม่ได้ แค่ชั้นปีที่ 1 ก็ท้อแล้ว
กับการวางแผนในอนาคต มิวสิคอยากเป็นนักบิน เพราะเป็นคนที่ชอบความเร็ว ชอบความแรง จบแล้วตั้งใจจะไปสอบนักบิน ถ้าสอบนักบินไม่ได้ หรือทำงานสายการบินที่สนใจใฝ่ฝันไม่ได้ก็จะศึกษาต่อที่ต่างประเทศ

เป็นยังไงบ้างคะกับความคิดของนิสิตคนนี้ อ่านแล้วรู้สึกว่าเด็กเกษตรนี่เก่งๆ มีความคิดดีๆ กันทุกคนเลยนะคะ อิอิ

ขอขอบคุณ เวป : http://www.studychannels.com/index.php
ภาพจาก pantip.com ห้องเฉลิมไทย เครดิตตามภาพ

ใหม่ สิทธา

ใหม่ สิทธา เลิศศรีมงคล ศิษย์เก่าจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เคยมีผลงานในวงการบันเทิง เช่น พิธีกรรายการ ฟัน โอเวอร์ ไทม์ การประกวด U & I Mr & Miss University 2001 พระเอกภาพยนตร์ เรื่อง ชื่อชอบชวนหาเรื่อง (2003) โบอา…งูยักษ์(2006) มิวสิควิดิโอเพลง เหงา พีชเมกเกอร์ ละครเรือนนารีสีชมพู (2006) แม้ตอนนี้จะไม่ค่อยได้เห็นหน้าทางจอโทรทัศน์ แต่ใหม่บอกว่ายังไม่ทิ้งวงการบันเทิงแม้จะไปเป็นสจ๊วตอยู่สายการบินแห่งหนึ่งที่ เปิดเผยชื่อไม่ได้ “จริงๆ ผมก็ยังวนเวียนอยู่กับวงการบันเทิงนะ เพียงแต่ว่าอาจจะได้เห็นหน้าน้อยหน่อย เพราะตอนนี้เป็นสจ๊วตอยู่สายการบินหนึ่ง พอกลับมาเมืองไทยทีนึงก็แวะไปเป็นพิธีกรคั่นรายการให้กับทางรายการทรูวิชั่น แนะนํารายการและภาพยนตร์อยู่ ซึ่งถ้าใครได้ดูก็อาจจะเห็นผมบ้าง” ก่อนหน้านี้ละ หายไปเลย “จริงๆ ก็มีภาพยนตร์เรื่อง โบอา-งูยักษ์ เรื่องหนึ่ง แล้วก็มีละครทางช่อง 3 แล้ว ก็พิธีกร ซึ่งจริงๆ ผมเองก็ยังคิดถึงอยู่นะครับ กับวงการบันเทิง แต่ด้วยภาระหน้าที่งานประจําที่ทําให้ผมรู้สึกว่าตอนนี้ตัวเองคงจะต้องทํางานประจําที่รักไปก่อน และงานบันเทิงก็คงจะเป็นงานอดิเรกซึ่งถ้ามีคนจ้างก็ยังทําอยู่ แต่งานอื่นๆ อาจจะไม่มีเวลาพอ เช่นละคร หรือภาพยนตร์เลยไม่กล้ารับเต็มๆ ครับ” ใครเป็นแฟนของหนุ่มคนนี้ก็ลองมองหาทางหน้าจอดู และติดตามผลงานของเขาได้นะคะ

ขอขอบคุณ บทความจาก daradaily
ภาพจาก kucity.com

คณะศึกษาศาสตร์


 

เปปเปอร์ รัฐศาสตร์

รัฐศาสตร์ กรสูต (เปปเปอร์) นักร้องและนักแสดง มีชื่อเสียงจากการเป็นสมาชิกบอยแบนด์ ยูเอชที เมื่อปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันเป็นนักแสดงสังกัดเอ็กแซ็กท์ ในเครือแกรมมี่ และเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ขณะนี้กำลังศึกษาต่อปริญญาเอก หลักสูตรการเรียนการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสาเหตุที่เรียนปริญญาเอกนั้น เพราะต้องการทำงานด้านวิชาการนั่นเอง “สาขาที่ผมเรียนจะเน้นหลักสูตรและการสอน ที่เลือกเรียนทางด้านนี้ เพราะคิดว่าเราชอบวิชาการ อยากยึดอาชีพอาจารย์ในอนาคตต่อไป หวังไว้จะมีคำนำหน้าว่าเป็น ดร.จริงๆ ถ้าเป็นคนธรรมดา อีก 2 ปีอาจจะจบแล้วก็ได้ แต่ด้วยเวลาที่เราต้องทำงานด้วย ก็เลยช้ากว่าคนอื่น คิดว่าไม่น่าจะเกิน 3 ปี”
เรียกได้ว่าเป็นอาจารย์หนุ่มอนาคตไกล รักการเรียน และฉลาดในการใช้ชีวิตโดยวางอนาคตของตัวเองไว้ล่วงหน้า ผู้เขียนเองเคยเจอเปปเปอร์ทานข้าวตามร้านอาหารใน ม.เกษตร อยู่หลายครั้ง จนแอบชื่นชมอยู่ในใจว่าเป็นดาราที่ติดดิน ไม่มีการหลบ ใส่หมวก ใส่แว่นดำพรางตัวแต่อย่างใด เพื่อนๆ น้องๆ คนไหนชื่นชอบพี่เปปเปอร์ ก็ติดตามผลงานละครของพี่เค้าได้นะคะ ตอนนี้กำลังออกอากาศทางช่อง 5 เรื่อง “ตลาดอารมณ์” วันจันทร์ – พฤหัสบดี เวลา 20.45 น. ค่ะ

ขอขอบคุณบทความจาก วิกิพีเดีย และ คม ชัด ลึก
ภาพจาก http://gossipstar.mthai.com/fanclub/3589/profile

Part 3 ขอจบการนำเสนอแต่เพียงเท่านี้นะคะ เนื่องจาก part 4 จะเป็นคิวของคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีหลายคนมากกก… (เกรงว่าเนื้อที่จะไม่พอ) แล้วพบกันใหม่ปีหน้า รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

หอจดหมายเหตุได้รับการติดต่อให้ไปคัดเลือกเอกสารจดหมายเหตุจากกองการเจ้าหน้าที่ ที่กำลังจะทำลายเอกสารประวัติของบุคลากรในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่รุ่นแรก (ตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย!!)

ซึ่งกองเอกสารเหล่านี้จัดว่ามีจำนวนมหาศาล อีกทั้งเต็มไปด้วยฝุ่น รา และแมลง กองเอกสารตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้งและร้อน บวกกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่สามารถไปคัดเลือกเอกสารเหล่านี้ของหอจดหมายเหตุ มก. เรามีอยู่เพียง 3 คน!!

ภาระงานมากมาย ทำให้พวกเรา(นักจดหมายเหตุ 2 และ นักเอกสารสนเทศ1) ตกลงใจจะไปคัดเลือกเอกสารทุกบ่ายวันศุกร์ ( เสาร์อาทิตย์จะได้พักผ่อนจากการดูดฝุ่น)

ขั้นตอนแรกที่ต้องทำคือ คัดเลือกเอกสารจดหมายเหตุที่สำคัญจากกองเอกสารเก่าทั้งหมด


โดยการเลือกคัดเลือกระดับแรก จะเลือกทั้งแฟ้ม เก็บแฟ้มของอดีตอธิการบดี รองอธีการบดี คณบดี และบุคคลสำคัญต่อประวัติของมหาวิทยาลัย  ขั้นตอนนี้กินเวลาไปมากโขอยู่ เนื่องจากภาระงานอื่นๆ และภาระร่างกายไม่เอื้ออำนวยต่อการคลุกฝุ่น

ขั้นตอนที่สอง ภายหลังจากที่คัดเลือกเอกสารระดับแรกเสร็จสิ้น เราได้เอกสารจดหมายเหตุใส่ในกล่้องมาทั้งหมด 26 กล่อง อัดแน่นทุกกล่อง จัดการติดต่อบริษัทอบเอกสาร เพื่อกำจัดแมลงและเชื้อรา ขั้นตอนในการอบเอกสารใช้เวลาเพียง1อาทิตย์

ขั้นตอนที่สาม  เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด คือการประเมินคุณค่าเอกสาร เราทั้งสามคนได้เลือกเวลาเดิมคือทุกบ่ายวันศุกร์ ไปนั่งประเมินคุณค่าเอกสารจดหมายเหตุทั้ง 26 กล่องทีละแผ่น  จนหมด ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานมากที่สุด

ขั้นตอนที่สี่ เอาเอกสารที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว มาทำความสะอาด ปัดฝุ่น เพื่อจัดเข้าแฟ้ม ทำทะเบียนเอกสาร โดยจัดอยู่ในหมวด กองการเจ้าหน้าที่

ขั้นตอนสุดท้าย ขนมาไว้ที่ห้องเก็บเอกสาร สำนักงานหอจดหมายเหตุ ใส่กล่องที่เอาไว้ใส่เอกสารจดหมายเหตุโดยเฉพาะ เตรียมพร้อมให้บริการค่ะ

จะเห็นได้ว่า กว่าจะเตรีัยมเอกสารชุดหนึ่งให้ออกให้บริการได้ต้องใช้เวลา ความพยายาม ความตั้งใจ รวมทั้งแรงกายอย่างมากมายทีเดียว  อย่างไรก็ตาม ความเหนื่อยนั้นจะหายไป ถ้ามีผู้เห็นความสำคัญของจดหมายเหตุ และช่วยกัยดูแลรักษาเอกสารก่อนจะถึงมือหอจดหมายเหตุ รวมทั้งมาใช้บริการค้นหาข้อมูลกันเยอะๆ ทางเรายินดีรับใช้ทุกท่านนะคะ ขอบคุณค่ะ

การรถไฟแห่งประเทศไทย  มีบริการนำเที่ยว เช้าไป – เย็นกลับ เฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์  มานานแล้ว  และเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2554  เราได้มีโอกาสไปเที่ยวกับการรถไฟ   เราเลือกไปเที่ยวที่น้ำตกไทรโยคน้อย โดยรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา  06.30 น. แต่เราเลือกขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟบางซื่อ เวลา 06.50 น.  ขอบอกนะคะ!!! ไม่น่าเชื่อคนเยอะมากค่ะ 6 ตู้รถไฟ เต็มทุกตู้ค่ะ  ก็สนุกค่ะตื่นตา ตื่นใจไปอีกแบบหนึ่งค่ะ รถไฟก็แล่นไปเรื่อยๆ สถานีแรกที่จอดคือ สถานีนครปฐม  พวกเราไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์

ต่อจากนั้นไปจอดที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว พวกลงไปชมและถ่ายภาพสะพานข้ามแม่น้ำแคว

และพวกเราเดินทางไปต่อจนกระทั่งถึงถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นช่วงโค้งมรณะ ลักษะเป็นสะพานโค้งเลียบแม่น้ำแควน้อย ความยาวประมาณ 400 เมตร พวกเราได้ชมวิวทิวทัศน์ 2 ข้างทางรถไฟ เป็นป่าโปร่ง และแม่น้ำอะเมซอนเมืองไทยด้วย

รถไฟก็ Dance ไปตลอดทาง อิอิ!!!  การรถไฟเขาทำบริการดีนะ  เขามีไกด์บรรยายให้กับพวกนักท่องเที่ยวด้วย เอาเท่าที่เราจำได้นะ ไกด์ พูดว่า เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ หรือทางรถไฟสายมรณะ  สายนี้เริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรีผ่านจังหวัดกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่โดยสะพานข้ามแม่น้ำแควไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า มีความยาว รวม 415 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟอยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ 303.95 กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 37 สถานี ทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้แรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้าง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า ไม่แปลกใจเลย!!ทำไมมีคนตายมากมายกับการสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้  คนตายเปรียบได้เท่ากับไม้หมอนรองรถไฟสายนี้เชียวนะ  และแล้วพวกเราก็มาถึงน้ำตกไทโยคน้อย  แต่เสียดายน้ำตกมีน้ำน้อยมาก  พวกนั่งพักผ่อนข้างลำธารทานข้าวกลางวัน  นอนเล่นอากาศเย็นสบาย

เมื่อเดินทางออกจากน้ำตกไทรโยคน้อย  รถไฟจอดแวะชมสุสานทหารพันธมิตรซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่พวกเราแวะชมกัน

หลังจากนั้นก็เดินทางกลับสถานีรถไฟกรุงเทพ เวลา 19.30 น.   ด้วยความปลอดภัยค่ะ

Posted by: kuarchives | มกราคม 5, 2011

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

นิทรรศนฺ๊ัรัตนโกสินทร์ อาคารอนุรักษ์ที่สวยงานบนถนนราชดำเนิน


อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์เป็นอาคารเก่าที่ได้มีการบูรณะปรับปรุงให้กลายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านประัวัติของรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ใกล้กับโลหะปราสาท  ภายในแบ่งเป็นหลายๆส่วน มีทั้งร้านขายของ ร้านอาคาร ร้านกาแฟ และห้องสมุด ถือว่ามาที่เดียวคุ้มได้ทั้งความรู้ และอิ่มอร่อยไปในตัว

ส่วนจัดแสดงนิทรรศการนั้นแบ่งออกเป็น 2 ชั้น และมีชั้นที่ 4 เป็นชั้นจุดชมวิวของอาคารที่สามารถมองเห็น ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ ลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ และโลหะปราสาทได้อย่างชัดเจนและสวยงาม

ห้องจัดแสดงในห้องแรกเป็นห้องรัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ เป็นการใช้มัลติมีเดีย 4 มิติทั้ง แสง เสียง ภาพ และสัมผัสในการนำเสนอเรื่องราวประวัติความเป็นมาโดยสังเขปของกรุงรัตนโกสินทร์

ห้องที่ 2 คือ ห้องเกียรติยศแห่งผ่นดินสยาม จัดแสดงเกี่ยวกับพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทั้งในรูปแบบของโมเดลจำลองและรวบรวมสถาปัตยกรรมและงานศิลปะเด่นๆของพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วไว้ในห้องนี้

ห้องที่ 3 คือ ห้องเรืองนามมหรสพศิลป์ เป็นห้องที่จัดแสดงเกี่ยวกับมหรสพและการละเล่นเด่นๆของไทยใน ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านทางจอ 360 องศารอบห้อง  และนำมหรสพเด่นๆมาจัดแสดงให้ได้ทดลองเล่น เช่น ฝึกฌชิดหุ่นกระบอก

 

 

ห้องที่ 4 คือ ห้องลือระบิลพระราชพิธี เป็นห้องที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญๆที่ยิ่งใหญ่ของไทย เช่น พิธีแรกนาขวัญ โดยทั้งตกแต่งด้วยข้าวเปลือกได้อย่างสวยงามมาก


ห้องที่ 5 คือ ห้องสง่าศรีสถาปัตยกรรม จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องของชาววัง วิถีชีวิตของชาววัง รูปแบบของบ้านและวังในสมัยก่อน

ห้องที่ 6 คือ  ห้องดื่มดำ่ย่านชุมชน นำเสนอชุมชนต่างๆในเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีจุดเด่นของแต่ละชุมชน เช่น ชุมชนช่างทอง ย่านเครื่องสังฆภัณฑ์ โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์เป็นตัวเพิ่มความน่าสนใจให้กับห้องนี้

ห้องที่ 7 คือ ห้องเยี่ยมยลถิ่นกรุง เป็นห้องที่ใช้แอนนิเมชั่นมาช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับห้องนี้โดยเราเป็น ผู้หนึ่งในการเดินทางท่้องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆของกรุงเทพมหานคร

 

 

 

 

 

 

 

 

นับตั้งแต่ต้นนนทรีทรงปลูกมีอายุครบ 40 ปี ในปี พ.ศ. 2546  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดงาน “วันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด” ขึ้นเป็นประจำทุกปี  เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทรงปลูกต้นนนทรี อันเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำนวน 9 ต้น บริเวณด้านหน้าหอประชุมของมหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่  29  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2506

สำหรับในปี พ.ศ. 2553 นี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำหนดจัดงาน “วันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด  สืบสานวันทรงดนตรี” ขึ้น  ในวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยแบ่งการจัดงานออกเป็นสองส่วนคือ

ในภาคเช้า จัดงาน  ณ  หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ  08.00 น.  จะเป็นกิจกรรมเล่าขานประวัตินนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด  ต่อด้วยพิธีเปิดงาน  การบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์  พิธีถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา  เพลงสดุดีพระเกียรติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี  พร้อมชมนิทรรศการ “รำลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด” บริเวณด้านหน้าหอประชุม

 

 

บรรยากาศการจัดงานวันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด  วันที่  27  พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ในภาคบ่าย จัดงาน  ณ  อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  เสด็จร่วมทรงดนตรีด้วยเครื่องดนตรีกู่เจิงกับวงดุริยางค์ทหารเรือ ในงาน “วันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี” ด้ัวย  และภายในงานจะมีการฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   การบรรเลงดนตรีของวงดนตรี K.U. Band  และวงดุริยางค์เครื่องลม K.U. Wind  และขอเชิญชมนิทรรศการ “รำลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี” บริเวณโถงด้านหน้าอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ

 

 

บรรยากาศงานวันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี

วันที่  28  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2552

หอจดหมายเหตุ  มก.  จึงขอเชิญชวนนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน  คณาจารย์ และบุคลากรทุกท่าน  รวมถึงผู้สนใจ  มาร่วมรำลึกถึงวันอันเป็นมหามงคลของชาวนนทรี  และร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่  5  ธันวาคม ที่กำลังจะมาถึงอย่างพร้อมเพรียงกันนะคะ

Posted by: kuarchives | ตุลาคม 21, 2010

The Star of KU – part 2

            กลับมาอีกครั้งกับ The Star of KU ซึ่งเป็นการแนะนำนิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่าของ ม.เกษตร ที่มีชื่อเสียงอยู่ในวงการบันเทิง หรือที่ได้เห็นหน้ากันบ่อยๆ ในโทรทัศน์นั่นเอง  ใน Part 1 ได้นำเสนอนิสิตจากคณะเกษตร และคณะบริหารธุรกิจไปแล้ว   ใน Part 2 นี้ จะมีคณะไหนบ้างมาดูกันเลยดีกว่าค่ะ

คณะประมง

โบ๊ท สราวุฒิ ปัญญาธีระ (ศิษย์เก่า) KU 66 นักแสดงจากเรื่อง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ หนังแนวเรียลลิตี้ ซึ่งสร้างสมัยที่กระแสเรียลลิตี้ในบ้านเรากำลังบูมใหม่ๆ  เป็นการตามถ่ายชีวิตนักเรียน ม.6 หลักๆ 4 คน ที่กำลังจะต้องเอ็นทรานส์ ว่ามีความรู้สึกยังไง มีการเตรียมตัวยังไง การตัดสินใจเลือกเป้าหมายในชีวิตครั้งสำคัญของแต่ละคน  ซึ่งโบ๊ท ใจจริงอยากเข้าคณะประมง เพราะเป็นคณะที่ใฝ่ฝัน แต่ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะครอบครัวอยากให้เรียนบัญชี  สุดท้ายแล้วโบ๊ทก็เข้าคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ตามที่ฝันไว้  ดูแล้วรู้สึกปลื้มใจจังที่มีน้องๆ ใฝ่ฝันอยากเข้ามหาวิทยาลัยเรามากขนาดนี้  หลังจากแสดงเรื่อง Final Score แล้ว โบ๊ทยังไม่มีผลงานในวงการบันเทิงอื่นๆ แต่ก็ช่วยเหลืองานของมหาวิทยาลัยอยู่ตลอด เช่น เป็นเชียร์ลีดเดอร์ในงานกีฬาต่างๆ  ร่วมงาน open house, งานเกษตรแฟร์ เป็นต้น  ขณะนี้โบ๊ทเพิ่งได้เป็น วิทยาศาสตร์บัณฑิต (ประมง)  เกียรตินิยมอันดับสอง ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 53 ที่ผ่านมานี่เอง  โบ๊ทมีมุมมองด้านการเรียน การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจ เขาเล่าว่า คณะประมงมีกิจกรรมการรับน้องที่ค่อนข้างเข้มแข็ง และหลังจากที่เสร็จสิ้นกิจกรรมนี้แล้ว ก็ทำให้พี่ๆ น้องๆ ในคณะรู้จักกันมากขึ้น รักกันมากขึ้น ทำให้น้องใหม่สามารถใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยนี้ได้อย่างมีความสุข รุ่นพี่จะคอยแนะนำไม่ว่าเราจะเจอปัญหาอะไร “ถ้าคุณชอบหรือรักในการเลี้ยงปลา ผมว่าเท่านี้ก็พอแล้วที่จะเรียนคณะนี้”  คนที่ไม่ได้รักและชอบทางด้านนี้จริงๆ แล้วเข้ามาเรียน ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็คงไม่มีความสุข แต่ถ้าน้องๆ ที่มีความรักและความสนใจคณะประมงจริงๆ แล้วล่ะก็ รับรองว่าทุกวันอยากตื่นมาเรียน เพราะได้เรียนในวิชาที่เราชอบที่เราสนใจ ได้ทำงานในห้องปฏิบัติการที่สนุกสนาน ได้สัมผัสกับปลาจริงๆ ได้รู้จริงๆ ว่าปลามันเป็นโรคอะไรยังไง  รับรองว่ามาเรียนที่นี่แล้วจะไม่ผิดหวังแน่นอน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  (บุคลากร) สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ตอน ทะเลไทย ของรายการแฟนพันธุ์แท้ ในปี พ.ศ. 2546  ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นบุตรชายคนโตของ ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยและปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   แม้ ดร.ธรณ์ จะไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  แต่รับราชการอยู่ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันนี้ 

ผศ.ดร.ธรณ์ เป็นที่รู้จักกันดีจากการเป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องทะเลและสิ่งแวดล้อม  ทำให้กลายเป็นผู้มีบทบาทในเหตุการณ์สึนามิ เคยเป็นอดีตที่ปรึกษาของหน่วยงานหลายแห่ง และยังมีผลงานด้านการเขียนสารคดีเกี่ยวกับเรื่องทะเลและสัตว์น้ำต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยวด้วย เป็นคอลัมนิสต์ของหลายสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสาร มีผลงานมากกว่า 2,000 เรื่อง หนังสือกว่า 80 เล่ม  อีกทั้งยังเป็นผู้อำนวยการและเว็บมาสเตอร์ เว็บไซต์ทะเลไทย ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องทะเลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  หลังจาก ดร.ธรณ์ ได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ทะเลไทย เราก็มีโอกาสเห็นอาจารย์ทางหน้าจอโทรทัศน์บ่อยขึ้น ด้วยบุคลิกที่สนุกสนาน พูดจาน่าฟัง เข้าใจง่าย ความเป็นนักวิชาการที่จับต้องได้ จึงได้รับเชิญให้ออกรายการโทรทัศน์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเสมอ  ถือเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรเก่งๆ แบบนี้นะคะ

คณะมนุษยศาสตร์ 

จักรธร ขจรไชยกูล (โตน วงโซฟา) (ศิษย์เก่า) KU 55  นักร้อง สมาชิกวง Sofa และ Pixyl   พี่โตนมีอัลบั้มร่วมกับเพื่อนๆ ในนามวง Pixyl สังกัดเบเกอรี่มิวสิค เมื่อปี 2542 มีเพลงดังคือ ไม่ต้องทำอย่างนี้ (ผู้เขียนชอบมาก อิอิ)  ก่อนจะออกมาทำวง Sofa ร่วมกับไบรอัน จนมีเพลงฮิตอยู่ในหลายๆ อัลบั้ม เช่น ได้โปรด, เรื่องมหัศจรรย์, จะเก็บเรื่องราวของเราเอาไว้, โชคชะตา เป็นต้น  นอกจากการร้องเพลงแล้ว พี่โตนยังมีฝีมือในการแต่งเพลงมาก ซึ่งนอกจากเพลงของวง sofa เองแล้วก็ยังแต่งเพลงให้กับค่ายเบเกอรี่มิวสิค แกรมมี่ และค่ายอื่นๆ อีกหลายเพลง เช่น  แต่งเพลงแค่ – วงพรู (เป็นเพลงติดชาร์ทอันดับ 1 นานหลายสัปดาห์ของหลายๆ คลื่นในช่วงปี 2544) เป็นโปรดิวเซอร์และแต่งเพลงให้กับวงกรุงเทพมาราธอน วง lula เป็นต้น  อีกทั้งยังมีงานเขียนหนังสือซึ่งเป็นที่ยอมรับจนได้รับรางวัล “พานแว่นฟ้า”  ปัจจุบันนอกจากงานเพลงแล้วยังมีสำนักพิมพ์ของตนเองชื่อสำนักพิมพ์น้ำนิ่ง

(แพนเค้ก) เขมนิจ จามิกรณ์ (นิสิต KU 66) นักแสดง/นางแบบ  แพนเค้กเข้าวงการตั้งแต่ อายุ 15 ปี โดยรับงานถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณามากมาย ก่อนข้าประกวดสุดยอดนางแบบและได้ตำแหน่งไทยซุปเปอร์โมเดล 2004 ตามด้วยสุดยอดนางแบบโลก “Model of the World 2004” ที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่วงการนักแสดง โดยเป็นนางเอก สังกัดช่อง 7 สี มีผลงานละคร “สืบ-สาว-ราว-รัก” เป็นเรื่องแรก แต่มาแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวจากละครหลังข่าว เรื่อง พลิกดินสู่ดาว หลังจากนั้นก็มีผลงานแสดงซึ่งได้รับความนิยมอยู่มากมายหลายเรื่อง เช่น เพลงรักข้ามภพ  บ่วงหงส์  ตะวันยอแสง  ด้วยแรงอธิษฐาน  นอกจากนี้แพนเค้กยังมีงานโฆษณาสินค้าอีกหลายสิบตัว จนใครๆ เรียกว่า “เจ้าแม่โฆษณา” และด้วยอุปนิสัยที่น่ารัก มีสัมมาคารวะและการวางตัวอย่างถูกกาลเทศะ แพนเค้กจึงได้รับฉายา “นางฟ้าเดินดิน” จากสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย และเป็นหนึ่งในนักแสดงไทยไม่กี่คนที่มีหุ่นขึ้ผึ้งของตัวเองอยู่ในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมในวันที่ 4 ธันวาคม 53 นี้  มีเครดิตดีขนาดนี้คงไม่แปลกใจถ้าจะบอกว่า แพนเค้กได้รับรางวัลจากนิตยสารและงานประกวดต่างๆ มาแล้วกว่า 30 รางวัล รวมถึงรางวัลเชิดชูเกียรติจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย

แม้จะมีงานในวงการบันเทิงมากมายขนาดไหน แพนเค้กก็ยังมาร่วมกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ เช่น เป็นพิธีกรในงานเสวนา  เป็นวิทยากรแนะนำน้องๆ ด้านการเรียนในงาน open house  เข้าร่วมขึ้นคอนเสิร์ต “คีตนนทรี ใต้ร่มพระบารมี” ในโอกาสครบรอบ 30 ปี คณะมนุษยศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นตัวอย่างที่ดีของน้องๆ เมื่อมีเวลาว่างจากการเรียนแล้วควรร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมและกิจกรรมของมหาวิทยาลัยนะคะ

(ยุ้ย) ณพอาภา เทวกุล ณ อยุธยา (ศิษย์เก่า) นักร้อง RS  KU 63  ความสามารถของสาวคนนี้ต้องบอกว่าเธอเก่งรอบด้านจริง ๆ ทั้งเรื่องของดนตรี ร้องเพลง แต่งเพลง เขียนหนังสือ ผลงานที่ผ่านมาของยุ้ยมีมากมาย อาทิ เป็นตัวแทนเยาวชนไทยในการทำหนังสือ “9 ย่างตามรอยเท้าพ่อ” และออกแบบสติ๊กเกอร์ “เรารักในหลวง” ที่ติดกันทั่วบ้านทั่วเมืองนั่นเอง  ยุ้ยเข้าสู่วงการเพลงโดยออกอัลบั้มแรก ชื่อ “ยุ้ย ณพอาภา” ในปี 2550 มีเพลงฮิต “ให้ฉันรักเธอ” กับสังกัด เมโลดิก้า ในเครืออาร์เอส  และออกอัลบั้มชุดที่ 2  “Love-i-View” ในปีต่อมา ซึ่งยุ้ยมีส่วนร่วมในการแต่งเนื้อเพลงเองด้วย  นอกจากนี้เธอยังเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศิลปะนิเทศ สาขาเอกดนตรีตะวันตก เอกขับร้อง (Voice) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกได้ว่าเก่งทุกเรื่องเลยจริงๆ ค่ะ

 

เตชินท์ ชยุติ (ศิษย์เก่า) KU 66 (นักร้อง) เข้าสู่วงการเพลงด้วยการประกวด ดัชชี่ บอย แอนด์ เกิร์ล 2007 ได้รางวัลชนะเลิศ สาขาร้องเพลง จนได้ออกอัลบั้ม “เตชินท์” กับค่ายแกรมมี่ โดยมีเพลงฮิตอย่าง ”คำตอบของหัวใจ” และร้องเพลงประกอบละครดังหลายเรื่อง เช่น เพลง “คนไม่รู้ตัว” ละคร วิวาห์ว้าวุ่น  เพลง “เก็บเอาไว้คำว่ารักเธอ” ละครหัวใจรักข้ามภพ  นอกจากมีอัลบั้มแล้ว  เตชินท์ยังมีส่วนร่วมกับคณะนั่นคือ เป็นนักร้องนำของวงวู้ดวินซิมโฟนีออร์เครสตรา ซึ่งเป็นวงเครื่องเป่าทั้งทีม  สำหรับเรื่องแบ่งเวลาเรียน เตชินท์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ค่อนข้างยากเหมือนกัน เพราะว่าเราเรียนทุกวัน แต่ถ้าวันไหนมีงานเข้ามาแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ  ผมต้องทำเป็นใบลาแล้วขออนุญาตอาจารย์ อาจจะหยุดวันเว้นวันบ้าง ยากในการแบ่งเวลาแต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเพราะทั้งสองด้านเป็นสิ่งที่เรารักทั้งคู่ มีส่งผลกระทบบ้างในบางวิชาที่เข้มงวดจริง ๆ แต่ผมพยายามทำให้ดีที่สุด” ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทีเดียว โดยขณะนี้หนุ่มเตชินท์คว้าปริญญาตรี จากคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศิลปนิเทศ สาขาวิชาดนตรีตะวันตก เอกการขับร้องคลาสสิกโอเปรา ม.เกษตรศาสตร์ ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.8 ไปเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 53 ที่ผ่านมานี้เอง  ซึ่งเจ้าตัวออกอาการปลื้มไม่น้อยเพราะแม้จะต้องทำงานและเรียนไปด้วยแต่ก็ สามารถเรียนจบได้ตามเกณฑ์พอดีเป๊ะ

หน้าเว็บเริ่มจะเต็มอีกแล้ว  Part 2 คงต้องขอจบลงเท่านี้ก่อนนะคะ แล้วติดตาม Part 3 ได้ในเดือนมีนาคม 2554 จ้า

Posted by: kuarchives | กันยายน 1, 2010

@เชียงใหม่

สวัสดีค่ะ ชาว Blog  Kuarchives ทุกท่าน

เมื่อวันที่ 28-30  กรกฎาคม  2553 ที่ผ่านมา  บุคลากรหอจดหมายเหตุ มก. ได้ไปศึกษาดูงานที่ จ.เชียงใหม่ มาคะ   แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบ 1 เดือนแล้ว  แต่ก็ขอนำเรื่องราวและภาพบรรยากาศต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังนะคะ

วันที่ 28  กรกฎาคม  2553  วันแรกของการเดินทาง   พอเท้าแตะพื้นดิน จ. เชียงใหม่ปั๊บ  พวกเราก็เริ่มกิจกรรมกันปุ๊บ  โดยสถานที่แรกที่เราเข้าชมคือ  พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ตั้งอยู่ที่ อ.แม่ริม เดิมพระตำหนักหลังนี้เป็นของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี


พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์

ปัจจุบันพระตำหนักดาราภิรมย์เป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งซื้อที่ดินบริเวณพระตำหนักดังกล่าวต่อจากทายาท  เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 20 บาท  พระสงฆ์และนักเรียนในเครื่องแบบฟรี

หลังจากนั้น  พวกเราได้ไปเยี่ยมชมและดูงานหอประวัติของสถานีวิจัยดอยปุย ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โดยมีคุณวิสิฐ  กิจสมพร หัวหน้าสถานีวิจัยดอยปุยและบุคลากรของสถานีวิจัยดอยปุยให้การต้อนรับ

มอบของที่ระลึกแก่หัวหน้าสถานีวิจัยดอยปุย

ส่วนหนึ่งของหอประวัติ สถานีวิจัยดอยปุย

บรรยากาศยามเย็นจากดอยปุย

วันที่สอง  เริ่มกิจกรรมกันที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  วันนี้พวกเราเข้าเยี่ยมชมหอประวัติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือหอศิลป์ปิ่นมาลา เดิมหอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอาคารสโมสรนักศึกษา  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ปรับปรุงให้เป็นหอศิลป์และให้ชื่อว่า “หอศิลป์ปิ่นมาลา”  โดยได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดเมื่อวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534  ต่อมาใน พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุงหอศิลป์ปิ่นมาลาให้เป็น หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)

ภายในหอประวัติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นำชมนิทรรศการ

อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยและอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในช่วงบ่าย  พวกเราได้ไปเยี่ยมชมหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพกันค่ะ  ที่นี่เป็นงานจดหมายเหตุของสถาบันการศึกษาเอกชน  ที่มีพื้นฐานและความผูกพันเกี่ยวข้องกับคริสตศาสนานิกายโปรแตสแตนท์  จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยศาสนาจารย์ เฮอร์เบิท อาร์ สวอนสันปัจจุบันมีที่ทำการอยู่ที่อาคารศรีสังวาลย์  วิทยาเขตแก้วนวรัฐ มีเอกสารจดหมายเหตุจำนวนมากโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนาในประเทศไทยให้บริการค้นคว้า  รวมถึงงานอนุรักษ์เอกสารที่เห็นแล้วน่าทึ่งในความสามารถและความมานะอุตสาหะและอดทนของบุคลากรที่นี่จริงๆ ค่ะ


งานอนุรักษ์หนังสือ

ขั้นตอนการทำที่ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์

ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

วันที่  30  กรกฎาคม  2553  วันสุดท้ายของการศึกษาดูงานที่เชียงใหม่  วันนี้พวกเราไปชมหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เดิมเคยใช้เป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ  และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ดินมรดกตกทอดของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่ให้ใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็น “ศาลารัฐบาล” หรือที่ทำการรัฐบาล  ต่อมาเมื่อเมื่อศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ราชการแห่งใหม่  อาคารหลังนี้จึงถูกปล่อยร้างจนถึง พ.ศ. 2540 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ขอปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2542 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์อยู่ด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

นิทรรศการ "ร้อยปีล่วงแล้ว"

แนะนำหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่อย่างย่อ

ภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวร 15 ห้อง จัดแบ่งตามเนื้อหานับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนมาเป็นเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน  ระบบการปกครอง วิถีชีวิต ประเพณี ภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่  อาคารส่วนหลังเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและลานกิจกรรม  ที่นี่เปิดทำการวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 08.30-17.00 น.  ค่าเข้าชมคนละ 20 บาท

ส่วนภาคบ่ายของวันสุดท้ายนี้  เนื่องจากว่าคณะดูงานของเราติดใจความสวยงามและธรรมชาติของสถานีวิจัยดอยปุย พวกเราจึงขอขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติและการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่สถานีฯ อย่างใกล้ชิดอีกครั้ง  ซึ่งพวกเราก็ไม่ผิดหวังเลยค่ะ  เพราะัท่านหัวหน้าสถานีวิจัยดอยปุย คุณวิสิฐ  กิจสมพร  พาพวกเราชมทั่วสถานีตั้งแต่ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  ต้นกล้าสตรอเบอรี่  ไปจนถึงแปลงปลูกพลับสายพันธุ์ต่างๆ  และพาชมบ้านพักของสถานีฯ ที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเคยเสด็จมาประทับด้วย ที่สำคัญคือ ที่นี่เค้ามีให้จับจองเป็นเจ้าของต้นพลับกันด้วยนะคะ  รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่  053-211142


ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

บ้านพักสวนสองแสน

นางแบบกับลูกพลับ

การศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้  พวกเราชาวหอจดหมายเหตุ มก. เลยได้ทั้งความรู้  ประสบการณ์การทำงานของเพื่อนๆ ร่วมอาชีพ  และมิตรภาพของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่พวกเราได้มีโอกาสได้เข้าไปศึกษาและทำความรู้จัก  หวังว่าในโอกาสต่อไปพวกเราจะได้รับมิตรภาพเช่นนี้อีกและมีโอกาสได้ต้อนรับพวกท่านบ้างนะคะ

หอจดหมายเหตุแห่งชาติได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติในเรื่อง  การป้องกันและกำจัดเชื้อราขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2553 ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

โดยหอจดหมายเหตุ มก. ได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย 2 วันในส่วนของการบรรยายภาคทฤษฎี

ในวันแรกเป็นการบรรยายในหัวข้อเรื่อง “นโยบายของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติในด้านงานอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ” ซึ่งกล่าวถึงการก่อตั้งหอจดหมายเหตุ  เอกสารจดหมายเหตุประเภทต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  นโยบายด้านการอนุรักษ์   การแบ่งส่วนราชการ  และกลุ่มงานต่างๆ ภายในหน่วยงาน  โครงการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ และคู่มืออนุรักษ์เอกสารประเภทต่างๆ

จากนั้นจะเป็นการบรรยายในเรื่อง “ความสำคัญและหลักการอนุรักษ์เอกสาร” “ การจัดการความเสี่ยงของมรดกทางศิลปวัฒนธรรม” และเรื่อง “ จิตวิญญาณของนักอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหต” โดยหัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์เอกสารคุณนัยนา แย้มสาขา  โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับความสำคัญของการอนุรักษ์ การป้องกัน วิธีการในการจัดการความสี่ยงทางด้านเอกสารจดหมายเหตุของต่างประเทศ รวมไปถึงจิตวิญญาณที่ดีของนักอนุรักษ์ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่นักจดหมายเหตุทุกคนควรจะมี

ในส่วนของวันที่ 2 จะเป็นการอบรมในเรื่องของ “ รา ศัตรูสำคัญของเอกสาร” โดย ดร. ศิริชัย หวังเจริญตระกูล ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ โดยอธิบายว่า ราคืออะไร  เกิดจากอะไรในทางวิทยาศาสตร์  เหตุใดราจึงสามารถทำลายเอกสาร  ชนิดของราและอาณาจักรรา  ประโยชน์ของรา วิธีการตรวจหาชนิดของรา เป็นต้น

หลังจากนั้นจะเป็นในส่วนของคุณกุลพันธาดา จันทร์โพธิ์ศรี ผู้เชี่ยวชาญและผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย  บรรยายเรื่อง “การป้องกันและหยุดยั้งปัญหาที่เกิดจากเชื้อราบนเอกสารจดหมายเหตุ” ให้ความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบและคุณสมบัติทางเคมีของเอกสารจดหมายเหตุ  สาเหตุของการชำรุดเสื่อมสภาพของเอกสาร  ชนิดของราที่พบมาก  การป้องกันและหยุดยั้งไม่ให้ราที่เกิดขึ้นลุกลาม และเรื่อง “ เทคนิค วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการกำจัดเชื้อราบนเอกสารจดหมายเหตุ” ที่อธิบายเทคนิคต่างๆ วัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์  สำหรับฆ่าเชื้อรา  ทำความสะอาดฝุ่นละออง  ลดกรด  กำจัดรอยเปื้อน  คราบรา  และเสริมสร้างความแข็งแรงของเอกสาร  และนำตัวอย่างเอกสารจดหมายเหตุที่เกิดเชื้อรามาแสดง

Posted by: kuarchives | มิถุนายน 10, 2010

รับน้องใหม่ มก.

ประเพณีรับน้องใหม่ของ มก.

รับน้องใหม่

เริ่มต้นขึ้นในปี 2493 เป็นปีแรกโดยน้องใหม่จะเดินทางไปขึ้นรถจากสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงแล้วมาลงที่บางเขนเพื่อเดินเข้ามามหาวิทยาลัยโดยพร้อมเพรียงกัน หลังจากนั้นได้มีระบบ SOTUS เกิดขึ้น

SOTUS นั้นมีความหมายย่อมาจาก

S =  Seniority   , O = Order , T = Tradition , U = Unitiy , S = Spirit

ในยุคแรกๆ จะนับวันที่ 5 มิ.ย. เป็นวันต้อนรับน้องใหม่ส่วนสาเหตุที่เลือกวันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันรับน้องใหม่นั้นเพราะว่าเป็นวันที่ รัชกาลที่ 8 ทรงเสด็จมาทรงหว่านข้าวและเยี่ยมกิจการของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์เสด็จมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยจึงถือเอาวันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันรับน้องและใช้มาจนถึงปี 2502 จึงได้ปรับเป็นวันเสาร์- อาทิตย์ เพื่อสะดวกต่อนิสิต

กิจกรรมที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังก็คือ กิจกรรมซ้อมร้องเพลงเชียร์ โดยมุ่งเน้นให้น้องๆมีระเบียบ และสมัครสามัคคีในความเป็นรุ่นพี่ – รุ่นน้อง นอกจากนี้ยังมีประเพณีอีกอย่างที่สำคัญในกิจกรรมรับน้องของนิสิตคณะเกษตรก็คือ ประเพณีชิงธง ซึ่งจะจัดในวันสุดท้ายของการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย

กิจกรรมสุดท้ายของการเป็นนิสิตปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็คือ พิธีการถอดหมวก ( ของนิสิตชาย) นิสิตหญิงก็คือ พิธีปลดโบว์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าถึงวาระที่นิสิตจะพ้นสภาพความเป็นน้องใหม่ โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2497 เพื่อเป็นการสร้างสัญลักษณ์ให้กับนิสิตใหม่โดยผู้หญิงจะติดโบว์สีเขียว ผู้ชายจะใส่หมวกเขียว

ในปัจจุบันประเพณีการรับน้องใหม่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมากมายเพื่อให้ทันยุคทันสมัยกับในปัจจุบันส่วนประเพณี กิจกรรมที่ยังคงมีอยู่ก็คือ การสอนน้องร้องเพลงซึ่งเรียกว่า วันสอนน้องร้องเพลง ( โดย อกม.)

« Newer Posts - Older Posts »

หมวดหมู่