Posted by: kuarchives | มิถุนายน 26, 2012

เสวนา “หนังสือเก่า เล่าเรื่อง มรดกภูมิปัญญาไทย”

การเสวนาเรื่อง หนังสือเก่า เล่าเรื่อง มรดกภูมิปัญญาไทย งานเสวนาเนื่องในโอกาสน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ที่ทรงมีต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทรงได้มอบ collection หนังสือส่วนพระองค์ให้เก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่คนรุ่นหลัง

การบรรยายในช่วงเช้ามีวิทยากร ๒ ท่านคือ รองศาสตราจารย์อัมพร ทีขะระ และรองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ที่ได้มีโอกาสสัมผัสหนังสือเก่าของกรมพระจันทบุรีนฤนาถ  ใน collection นี้มีด้วยกันทั้งสิ้น ๕,๐๐๐ เล่มโดยเป็นหนังสือภาษาไทยประมาณ ๑,๖๑๖ เล่ม และอีก ประมาณ ๓,๐๐๐ เล่มเป็นหนังสือภาษาต่างประเทศ โดยหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นพจนานุกรม ศาสนาเปรียบเทียบ พระไตรปิฎกและยังมีที่ไม่สามารถทำบัตรรายการได้อีกจำนวนหนึ่ง พร้อมกันนี้รองศาสตราจารย์อัมพรยังได้กล่าวถึงความเด่นของหนังสือหายากของกรมพระจันทบุรีนฤนาทไว้ว่า หนังสือชุดนี้มี

ความเด่นในเรื่องของ บรรณสิทธิ์การครอบครอง และตัวของหนังสือมีลายเซ็นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าของอยู่ในหนังสืออย่างชัดเจน รวมทั้งมีการออกแบบปกหนังสือที่สวยงามเกือบทุกเล่ม  ทางด้านของรองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ได้กล่าวว่าหนังสือในชุดนี้นั้นเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์เพราะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมรวมไปถึงสามารถสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและแนวคิดของกรมพระจันทบุรีนฤนาถผ่านทางหนังสือที่ท่านได้อ่านอีกด้วย

 “ลีลา ฉันท์” ผู้บรรยายได้นำเสนอเกี่ยวกับ ฉันท์ แบบต่างๆจากการค้นคว้าของอาจารย์จากหนังสืออิลราชคำฉันท์ พร้อมทั้งได้มีการอ่านฉันท์ในแบบต่างๆให้รับฟังไม่ว่าจะเป็น  สัททุลวิกีฬิต ฉันท์ ๑๙ , อินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ ,ภุชงคประยาต ฉันท์ ๑๒ เป็นต้น

 “ เสน่ห์ของหนังสือเก่า” โดยนายอเนก นาวิกมูล ได้กล่าวถึงความสำคัญของหนังสือเก่า ในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเป็นแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ รวมไปถึงส่วนประกอบที่สวยงามของหนังสือไม่ว่าจะเป็นหน้าปก รูปเล่ม ทำให้หนังสือเก่าเหล่านี้มีราคามากขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างหนังสือเก่าที่ได้มีการเก็บรักษาไว้เช่น ซาเก๊าะ หนังสือสามก๊กในสมัยรัชกาลที่ ๔

“หนังสือเก่า ความรัก ความผูกพัน กับคนสำคัญ” โดยนางสุกัญญา ชลศึกษ์ (กฤษณา อโศกสิน)  นางชมัยภร แสงกระจ่าง และนายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ โดยมีหม่อมหลวงสราลี กิติยากร เป็นผู้ดำเนินรายการ  การเสวนาจะกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากเอกสารเก่า หนังสือเก่าเพื่อนำมาเขียนเป็นนวนิยายในด้านที่จะต้องเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โดยนักเขียนทั้ง ๓ ท่านได้เขียนนวนิยายในเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รสรักปักอุราของ กฤษณา อโศกสิน ที่ดำเนินเรื่องโดยการใช้หนังสือเก่าเป็นตัวเดินเรื่องที่สำคัญ จำเป็นที่จะต้องไปสืบค้นข้อมูลจากหนังสือเก่าไม่ว่าจะเป็นเรื่อง มัทนะพาธา หรือ ประวัติศาสตร์ล้านนา มาเป็นข้อมูลในการเขียนบรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่ การแต่งกายของคนในสมัยอดีต เป็นต้น เช่นเดียวกับนางชมัยภร แสงกระจ่างที่เป็นผู้เก็บสะสมหนังสือเก่ามากมายไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือและเป็นความชื่นชอบส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรื่อง อวสานสวนกุหลาบ ของ ร. จันทพิมพะ ที่เป็นหนังสือหายากในสมัยนี้  และในส่วนของนายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ ได้ทำการค้นข้อมูลจากหนังสือเก่าประเภทหนังสืองานศพของข้าราชบริพารสมัยอดีต เช่น “ บันทึกส่วนตัวของ เจ้าพระยารามราฆพ”ทำให้ทราบถึงสภาพสังคมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เพื่อนำมาเขียนเป็นนิยายในเรื่อง สาวหลงยุค  รวมไปถึงเรื่องอื่นๆด้วยที่ต้องมีการค้นคว้าข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์จากหนังสือเก่า เช่น รอยไหม กี่เพ้า สิเน่หาสาหรี เป็นต้น ซึ่งทั้ง ๓ ท่านต่างเป็นผู้ที่รักหนังสือเก่าและเห็นคุณค่าของการเก็บรักษาหนังสือเก่าไว้เพื่อเป็นมรดกทางปัญญาแก่คนรุ่นหลังต่อไป

หลังจากจบการบรรยายได้มีการนำชมเปิดห้องหนังสือหายากกรมพระจันทบุรีนฤนาถ

ห้องหนังสือหายาก


ใส่ความเห็น

หมวดหมู่